วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

PISA กับการประเมินผลการเรียนรู้

PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นโครงการประเมินผลผู้เรียนนานาชาติ ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) PISA ประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อเปรียบเทียบศักยภาพในการแข่งขันของผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับระดับนานาชาติ ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีหน่วยงานต่างๆร่วมดำเนินการ ในประเทศไทยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้ดำเนินงานวิจัยและเป็นศูนย์ประสานงานระดับชาติ PISA จะประเมินให้กับประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศอื่นๆที่ต้องการเข้าร่วมการประเมิน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ PISA เริ่มการประเมิน สำหรับประเทศไทย PISA ประเมินผู้เรียนที่มีอายุ 15 ปี และกำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป ในสถานศึกษาทุกสังกัดทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา ผู้เรียนกลุ่มอายุดังกล่าวส่วนใหญ่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งถือว่าได้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมาแล้ว สสวท. จะเป็นผู้เลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้เรียนกลุ่มอายุดังกล่าว เพื่อเข้ารับการประเมิน PISA ประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการ โดยการศึกษาว่าระบบการศึกษาของแต่ละประเทศได้เตรียมความพร้อมให้กับประชาชนสำหรับการใช้ชีวิต และการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ PISA ไม่เน้นการประเมินความรู้ของผู้เรียนที่กำลังเรียนอยู่ในห้องเรียนโดยตรง แต่เน้นการประเมินสมรรถนะของผู้เรียนในการใช้ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่ เพื่อการศึกษาต่อในระดับสูง การงานอาชีพ และการดำเนินชีวิต ซึ่ง PISA เรียกว่า การรู้เรื่อง (Literacy) โดยมีการประเมินการรู้เรื่องใน 3 ด้าน คือ 1. การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) 2. การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematics Literacy) 3. การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) PISA จะประเมินผู้เรียนทุกๆ 3 ปี โดยหนึ่งรอบของการประเมินจะใช้เวลารวม 9 ปี การประเมินแต่ละครั้งจะครอบคลุมการเรียนรู้ใน 3 ด้านข้างต้น ซึ่งเน้นการให้น้ำหนักการประเมินแต่ละด้านแตกต่างกัน การประเมินของ PISA ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) และปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) เน้นการรู้เรื่องการอ่าน ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) และปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) เน้นการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ ส่วนปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) และ ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) เน้นการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ในด้านที่เน้นจะมีน้ำหนักการประเมินร้อยละ 60 และส่วนที่เหลือจะมีน้ำหนักการประเมินแต่ละด้านประมาณร้อยละ 20 สำหรับ พ.ศ. 2555 ที่ PISA เน้นการประเมินการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ สสวท. ได้สุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทั่วประเทศ ประมาณ 230-260 โรง และทำการนัดหมายประเมินนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในวันเวลาที่กำหนดตลอดช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 และประกาศผลการประเมินในระดับนานาชาติในประเทศไทย ประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 จากผลการประเมินของ PISA ในอดีตที่ผ่านมา ผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่สามารถเตรียมเยาวชนให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาชาติได้ดี ผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้อย่างจริงจัง โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหาร ครู และนักเรียน ดังนี้ 1. ผู้บริหารต้องกระตุ้นและสร้างบรรยากาศให้เกิดความตื่นตัว ความอยากเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ร่วมกับคณะครูวิเคราะห์ในการนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน พัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ 2. ครูต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโครงการ PISA ศึกษารายละเอียดกรอบการประเมิน แนวการออกข้อสอบ และการตรวจข้อสอบ เพื่อนำผลมาประกอบการจัดการเรียนการสอนและชี้แนะนักเรียนให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง ครูสามารถศึกษาตัวอย่างแนวการประเมินการรู้เรื่อง ใน 3 ด้านข้างต้นได้จากwww.pisathailand.ipst.ac.th ครูต้องฝึกให้นักเรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา ทั้งควรเน้นการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ครูต้องชี้แจงให้นักเรียนที่ต้องเข้าสอบรับทราบว่า การทำข้อสอบห้ามเดา เมื่อหมดเวลาสอบแล้วยังทำข้อสอบไม่เสร็จ ให้หยุดทันที ไม่เดาคำตอบของข้อสอบที่เหลือ นักเรียนต้องตั้งใจทำข้อสอบอย่าละเลยไม่เห็นความสำคัญ 3. นักเรียนต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ทั้งเรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนกลุ่มตัวอย่างต้องพยายามทำข้อสอบอย่างตั้งใจ ถ้ามีข้อสอบที่ไม่เคยชินอย่าด่วนท้อใจเลิกทำ ต้องรู้จักตั้งสติ มีสมาธิ พยายามวิเคราะห์สถานการณ์และตัวคำถาม เพื่อตอบให้ได้ถูกต้อง ฝึกฝนทำข้อสอบลักษณะต่างๆที่ปรากฏอยู่ในตัวอย่าง เช่น ข้อสอบแบบเลือกตอบ ข้อสอบแบบมีคำถามต่อเนื่องกัน และข้อสอบแบบเขียนตอบที่ต้องให้เหตุผลประกอบ ซึ่งข้อสอบลักษณะสุดท้ายนี้นักเรียนไทยมักไม่ค่อยชอบทำหรือทำแบบไม่ตั้งใจ ซึ่งครูต้องเตรียมแก้ปัญหานี้ไว้ด้วย ที่มา : http://smtat.ipst.ac.th/index.php/2012-05-01-10-41-00/23-1